ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนวัดพญาปันแดน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2466 ที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ในพื้นที่ของวัดพระยาแมน เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันมีนักเรียน 134 คน พนักงานบริการ 1 คน เขตบริการของโรงเรียนมี 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และมีหมู่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลตลุกเทียม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มาใช้บริการด้วยอีก 1 หมู่บ้าน มาเรียนตามบรรพบุรุษ ด้วยเหตุความใกล้เคียงและความผูกพัน ปัจจุบันเปิดทำการสอนในระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ระดับประถมศึกษามี 2 ช่วงชั้น คือช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 )
ด้านอาคารสถานที่ มีอาคารเรียนแบบ ป.1ฉ จำนวน 2 หลัง หลังละ 5 และ 6 ห้องเรียน ตามลำดับ รวมพื้นที่ห้องเรียน จำนวน 11 ห้องเรียน มีอาคารห้องสมุดจำนวน 1 หลัง ด้วยความร่วมมือรวมใจของชาวบ้านที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ต้องการให้บุตรหลานมีความรู้ ความสามารถอ่านเขียนได้ จึงรวมมือกันก่อสร้างห้องสมุดโดยงบประมาณชุมชน มีสนามกีฬาฟุตบอล 1 สนาม สนามบาสเกตบอล 1 สนาม และสนามวอลเลย์บอลจำนวน 1 สนาม สนามตะกร้อ 1 สนาม บ้านพักครู 2 หลัง ส้วม 4 หลัง จำนวน 11 ที่นั่ง โรงอาหาร 1 หลัง โรงเรียนวัดพญาปันแดนเป็นโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ในปี 2540 จัดให้มี ห้องพิเศษ จำนวน 3 ห้อง ได้แก่ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องวิทยาศาสตร์ และห้องคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันใช้การได้บ้างด้วยเหตุวัสดุอุปกรณ์ภายในห้องดังกล่าวขาดคุณภาพ ทางโรงเรียนจักต้องปรับปรุงพัฒนาอีกมาก
วิสัยทัศน์โรงเรียน
“ โรงเรียนวัดพญาปันแดน จัดการศึกษามุ่งพัฒนาผู้เรียนสู่คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาชาติ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ”
ปรัชญาของโรงเรียน
“ เรียนดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ”
พันธกิจ
1. พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษาโดยใช้รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
2. พัฒนาครู พัฒนาองค์กรให้เข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล ครูมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้
3. พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลายและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
4. ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำรงชีวิต และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
5. พัฒนาอาคารสถานที่ สื่อ เทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้